วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

นครหลวงเวียงจันทน์

          นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงข้ามกับอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายของประเทศไทย เมืองหลวงรูปพระจันทร์เสี้ยวของลาวแห่งนี้ ยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศเงียบสงบ ชาวเมืองทั่วไปดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเรียบง่าย แตกต่างจากเมืองหลวงอื่นๆ ของเอเชียในหลายประเทศ ปัจจุบันการเดินทางมาท่องเที่ยวเวียงจันทน์นั้นแสนสะดวก เพียงข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จากชายแดนหนองคายข้ามลำน้ำโขงไป 1,240 เมตร และเดินทางต่ออีกประมาณ 20 กิโลเมตร ก็ถึงนครหลวงเวียงจันทน์แล้ว


พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ 




               เมื่อมาเยือนนครหลวงเวียงจันทน์ สถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกที่ไม่ควรพลาดชมคือ พระธาตุหลวง ที่เป็นทั้งสัญลักษณ์ประจำชาติและศาสนสถานที่สำคัญที่สุดของลาว มีความหมายต่อจิตใจประชาชนชาวลาวอย่างใหญ่หลวง แทนความเป็นเอกราชและอำนาจอธิปไตยของประเทศลาว ถัดจากประตูทางเข้าใหญ่มาประมาณ 100 เมตร จะเห็นพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ตั้งอยู่บนฐานสูง พระหัตถ์ทรงถือพระแสงดาบวางพาดไว้บนพระเพลา เล่ากันว่าพระแสงดาบเล่มนี้จะทำหน้าที่ปกป้องพระธาตุหลวง ซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวลาวทุกคน




ประตูชัย






             จากถนนล้านช้างมุ่งหน้ามาทางวงเวียนใหญ่ จะเห็นประตูชัยตั้งเด่นตระหง่านอยู่ตรงกึ่งกลาง เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงประชาชนชาวลาวผู้เสียสละชีวิตในสงครามก่อนหน้าการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ ประตูชัยแห่งนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “รันเวย์แนวตั้ง” เพราะการก่อสร้างประตูชัยแห่งนี้ใช้ปูนซิเมนต์ที่อเมริกาซื้อเพื่อนำมาสร้างสนามบินใหม่ในนครหลวงเวียงจันทน์ ในระหว่างสงครามอินโดจีน แต่ไม่ทันได้สร้างเพราะอเมริกาพ่ายแพ้สงครามในอินโดจีนเสียก่อน จึงนำปูนซิเมนต์มาสร้างประตูชัยแทน ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของประตูชัยได้รับอิทธิพลมาจากประตูชัยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมในสมัยนั้น แต่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของประตูชัยก็ยังคงเอกลักษณ์ในแบบของชาวลาวปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพุทธศิลปลาว ภาพเรื่องราวมหากาพย์รามายณะ แบบปูนปั้นใต้ซุ้มโค้งของประตูชัย บริเวณทางเข้าภายในมีบันได 147 ขั้น ให้เดินขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์ของเมืองเวียงจันทน์ได้รอบตัวเมือง ในปัจจุบันตอนช่วงเย็นๆ ของทุกวัน บริเวณสวนสาธารณะโดยรอบ จะเห็นชาวนครหลวงหลากหลายวัย ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่สำหรับออกกำลังกาย และพักผ่อนตามอัธยาศัย 


  วัดสีเมือง 




             เป็นวัดหนึ่งในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่ในแต่ละวันมีประชาชนชาวลาวเดินทางไปสักการบูชากันเป็นจำนวนมาก ภายในวัดเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองประจำนครเวียงจันทน์ ภายในวัดมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่มากมาย และมีอยู่องค์หนึ่งที่เก่าแก่ที่สุด น่าจะสร้างขึ้นก่อนปีพ.ศ.2371 พระพุทธรูปองค์นี้ชำรุดไปบางส่วน ชาวลาวเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ใครไปบนบานศาลกล่าวสิ่งใดเป็นต้องได้สมใจ ด้านหน้าฝั่งตรงข้ามประตูทางเข้าจึงมีร้านจำหน่ายดอกไม้ ธูป เทียน และร้านจำหน่ายผลไม้ให้บริการ ทางทิศตะวันออกของวัดสีเมืองมีสวนสาธารณะเล็กๆ มีพระบรมรูปของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ตั้งอยู่บนแท่นสูงกลางสวนสาธารณะ พระหัตถ์ทรงถือสมุดใบลานที่จารึกประมวลกฎหมายฉบับแรกของลาวเอาไว้ พระบรมรูปเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์นี้เป็นของขวัญที่ทางสหภาพโซเวียต มอบมาให้ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นแผ่นป้ายโลหะจารึกพระนามถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์รื้อทิ้งออกไป ภายหลังได้รับชัยชนะในสงครามปลดปล่อยเมื่อปี พ.ศ.2518


วัดสีสะเกด




     เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในนครหลวงเวียงจันทน์ที่ไม่ควรพลาดชม เนื่องจากในสมัยนั้นลาวตกเป็นเมืองขึ้นของไทย เจ้าอนุวงศ์จึงออกแบบวัดตามอย่างศิลปะไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กองทัพสยามไม่ทำลายวัดแห่งนี้ลงหลังจากยกทัพเข้าตีนครเวียงจันทน์ได้สำเร็จในปี พ.ศ.2317 จึงนับได้ว่าวัดสีสะเกดอาจเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในนครเวียงจันทน์ เพราะวัดอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดล้วนเป็นวัดที่ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่หลังจากนครเวียงจันทน์แตกในครั้งนั้นทั้งสิ้น ทางเข้าพระอุโบสถบริเวณประตูด้านขวามีศิลาจารึกสร้างด้วยหินทรายเนื้อละเอียด บรรยายถึงประวัติการสร้างการจัดวาง และการสมโภชเฉลิมฉลองของวัดสีสะเกดแห่งนี้ ถัดมาบริเวณผนังด้านในของระเบียงที่ล้อมรอบพระอุโบสถเอาไว้นั้น มีการทำช่องกุดเล็กๆ ลักษณะเป็นซุ้มโค้งแหลมจำนวนมากสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเงินและพระพุทธรูปดินเผามากกว่า 6,800 องค์ 


หอพระแก้ว 





             จากวัดสีสะเกดสามารถข้ามถนนมาฝั่งตรงข้ามเพื่อมาชมหอพระแก้ว แต่เดิมหอพระแก้วเคยเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ลาว สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากล้านนา ในปัจจุบันหอพระแก้วจะไม่ใช่วัดอีกต่อไปแล้ว ได้เปลี่ยนสภาพเป็นหอพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรวบรวมพระพุทธรูปและโบราณวัตถุต่างๆ มากมายแต่นักท่องเที่ยว (โดยเฉพาะชาวไทย) ก็ยังเดินทางมาสักการบูชากันเป็นจำนวนมาก








ข้อมูลจาก : http://www.scholidaytour.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539545042&Ntype=10








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น