วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระราชวังต้องห้าม




              พระราชวังต้องห้ามเป็นที่รู้จักในหลากหลายชื่อ ในภาษาจีนนั้น ชาวจีนจะเรียกพระราชวังต้องห้ามว่า กู้กง (จีน: 故宫; พินอิน: Gùgōng) ซึ่งแปลว่า พระราชวังเก่า นอกจากนี้ คำนี้ยังใช้เรียกพระราชวังเก่าตามเมืองต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศจีนด้วย
ส่วนคำที่เรารู้จักกันดีว่า "พระราชวังต้องห้าม" นั้น แปลมาจากภาษาจีน จื่อจิ้น เฉิง (จีน: 紫禁城; พินอิน: Zǐjìn Chéng) ซึ่งแปลตามตัวอักษรได้ว่า "เมืองต้องห้ามสีเลือดหมู" ด้วยเหตุที่ว่า ห้ามสามัญชนเข้าไปในบริเวณวังหลวงโดยเด็ดขาด และสีเลือดหมูนั้นเป็นสีอาคารและหลังคาโดยทั่วไป

          การก่อสร้างพระราชวังต้องห้ามใช้เวลา 14 ปี โดยสร้างอยู่บนพื้นฐานพระราชวังเมือง "ต้าตู" ของราชวงศ์หยวนเมื่อรัชสมัยพระเจ้า "หย่งเล่อ" เป็นที่รวบรวมสติปัญญาและความสามารถของประชาชนจีนในสมัยเมื่อหลายร้อยปีก่อน ตอนก่อสร้างใช้คนงาน 1 ล้านคนและช่าง 1 แสนคน เนื่องจากเงื่อนไขการผลิตของสังคมในสมัยนั้น ทำให้การสามารถก่อสร้างพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ได้นั้น สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาระดับสูงและเทคนิคทางด้านนวัตกรรมของประชาชนสมัยโบราณของจีนอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การก่อสร้างพระราชวังต้องห้ามยังต้องการใช้ต้นไม้จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทางภาคใต้ของจีน เช่น มณฑลเสฉวน มณฑลกวางสี มณฑลกวางตุ้ง มณฑลยูนนานและมณฑลกุ้ยโจว ประชาชนจำนวนมากมายพากันตัดและขนส่งจากภูเขาและป่าไม้ธรรมชาติมายัังสถานที่ก่อสร้าง ส่วนวัสดุที่เป็นหินส่วนใหญ่ได้มาจากชานเมืองและเขตภูเขาที่ห่างจากกรุงปักกิ่งประมาณ 200-300 กิโลเมตร หินบางชิ้นนั้นมีน้ำหนักถึงหลายสิบหรือหลายร้อยตัน เช่น บันไดหินที่อยู่ข้างหลังพระตำหนัก "เป่าเหอเตี้ยน" ก็คือหินแกะสลักรูป " 9 มังกรดั้นเมฆ" ซึ่งก้อนหนึ่งมีน้ำหนักประมาณ 250 ตัน





            หลังจากพระราชวังต้องห้ามสร้างแล้วเสร็จ ในช่วง 500 กว่าปีของราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีจักรพรรดิของทั้งสองราชวงศ์ทั้งหมด 24 พระองค์เคยประทับอยู่ที่นี่ เป็นศูนย์กลางของอำนาจสูงสุดในทั้งสองราชวงศ์ ประวัติศาสตร์กว่า 500 ปีของพระราชสำนักราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงซึ่งรวมถึงการเคลื่อนไหวของจักรพรรดิและพระมเหษี ระบอบชนชั้น การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจ การเซ่นไหว้บูชาทางศาสนาล้วนเกิดขึ้นภายในสถานที่แห่งนี้ สมัยนั้น ชาวบ้านธรรมดาแม้เพียงเดินใกล้ชิดกำแพงพระราชวังต้องห้ามก็นับเป็นการทำผิดกฎหมาย เนื่องจากพระราชสำนักเป็นใจกลางการปกครองประเทศสูงสุดของระบอบศักดินาที่มีความสมบูรณ์ในระดับสูงซึ่งในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง เหตุการณ์สำคัญๆ มักจะเกิดขึ้นโดยเกี่ยวข้องถึงการสืบทอดราชสมบัติและอำนาจของจักรพรรดิเสมอ


            เมื่อปี 1911 เกิดการปฏิวัติ "ซินไฮ่" โค่นอำนาจรัฐราชวงศ์ชิงลง ความจริงแล้ว พระราชวังต้องห้ามต้องตกเป็นของรัฐ แต่ "เงื่อนไขให้สิทธิพิเศษแก่พระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์ชิง" กำหนดไว้ว่า อ้ายซินเจวียหลัว ผู่อี๋ จักรพรรดิองศ์สุดท้ายของราชวงศ์ชิงผู้สละราชสมบัติได้รับการอนุญาตให้ "อยู่ในวังในของพระราชวังต้องห้ามชั่วคราว" หลังจากนั้น อ้ายซินเจวียหลัว ผู่อี๋ก็อยู่ในวังนี้ต่ออีก 14 ปี ถึงปี 1924 จอมพลเฝิง ยู่เสียงก่อ "การรัฐประหารปักกิ่ง" ไล่อ้ายซินเจวียหลัว ผู่อี๋ออกจากพระราชวังต้องห้าม ทั้งจัดตั้ง "คณะกรรมการจัดการกิจการพระราชสำนักราชวงศ์ชิง" รับมือบริหารพระราชวังต้องห้ามต่อไป หลังจากอ้ายซินเจวียหลัว ผู่อี๋ถูกไล่ออกจากพระราชวังต้องห้ามไปแล้ว แต่ฝั่งทางต้วน ฉีรุ่ยและพวกอดีตข้าราชการระดับสูงของราชวงศ์ชิงพากันวางแผนเชิญอ้ายซินเจวียหลัว ผู่อี๋กลับพระราชวังต้องห้ามอีก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีนี้ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมปี 1925 รัฐบาลจีนในขณะนั้นได้จัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์กู้กง" ขึ้นอย่างเป็นทางการ และเปิดให้เข้าชมด้วย หลังจากปี 1925 พระราชวังต้องห้ามจึงเรียกว่า "กู้กง" หรือ "พระราชวังโบราณ" เนื่องจากพระราชวังต้องห้ามขาดการดูแล โดยเฉพาะในช่วง 38 ปีก่อนปี 1949 สิ่งก่อสร้างต่างๆ เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ พระที่นั่งพังไปหลายแห่ง กองขยะก็ทับถมเหมือนภูเขา


ปี 1949 สาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้น พอถึงปี 1961 คณะรัฐมนตรีจีนกำหนดพระราชวังต้องห้ามเป็น "โบราณสถานที่ต้องอนุรักษ์เป็นพิเศษระดับชาติ" ของจีน ในช่วงทศวรรษที่ 1950-60 จึงมีการบูรณะซ่อมแซมขนาดใหญ่ เมื่อปี 1987 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติกำหนดให้พระราชวังต้องห้ามเป็น "มรดกวัฒนธรรมโลก" โดยในชื่อปัจจุบันว่า "พิพิธภัณฑ์กู้กง"



โครงสร้างและสถาปัตยกรรม

              พระราชวังต้องห้ามตั้งอยู่บนหัวใจปักกิ่ง (the heart of Beijing) นักดาราศาสตร์ชาวจีนโบราณสร้างให้ที่ตั้งนี้เป็นเครื่องหมายแห่งจักรวาล
                 การก่อสร้างพระราชวังต้องห้ามใช้ช่างฝีมือกว่าหนึ่งแสนคน คนงานมากกว่าหนึ่งล้านคน ไม้ที่ใช้เป็นไม้หนามมู่ เป็นไม้เนื้อแข็งชั้นดี เอามาจากมณฑลซื่อชวน กว่างตง และยูนาน ส่วนไม้ซุงขนมาจากซื่อชวน เจียงซี เจ๋อเจียง ส่านซี และฮูนาน การตัดและการขนย้ายเป็นเรื่องสุดโหด ไม้เมื่อตัดแล้ว จะต้องทิ้งไว้บนเขาอย่างนั้น รอให้น้ำป่าหลากทะลักพัดมันลงมาเอง จากนั้นจึงค่อยบรรทุกขึ้นเรือมาปักกิ่ง
                 หินที่ใช้ในการก่อสร้าง นำมาจากฟ่างซาน การขนย้ายต้องจ้างชาวไร่ ขาวนา ในการขนย้ายหินถึง 20,000 คน หินแต่ละก้อนยาว 10 เมตร กว้าง 3 เมตร หนา 1.6 เมตร หากเคลื่อนย้ายผ่านภูมิภาคที่เป็นน้ำแข็ง ต้องราดน้ำลงไปเพื่อให้น้ำแข็งละลาย เมื่อมาถึงปักกิ่ง ต้องใช้ม้าและล่อลากหินเป็นพันๆ ตัว
                 อิฐนำมาจากหลินจิ้ง ในมณฑลซานตง การสร้างต้องใช้อิฐมากกว่าสิบล้านก้อน เพื่อใช้ปูพื้นพระราชวัง และขั้นตอนในการปูพื้นมีกรรมวิธีกว่ายี่สิบขั้นตอน แต่ละพื้นที่ใช้เวลาปูพื้นร่วมปี









ข้อมูลจาก : wikipedia , http://thai.cri.cn





พระราชวังโปตาลา

         พระราชวังโปตาลา ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลาซาบนเขาแดง คำว่า “โปตาลา” มาจากภาษาอินเดียโบราณหมายถึง “ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม” พระราชวังโปตาลา สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าซองเซน กัมโป กษัตริย์องค์ที่ 32 แห่งราชวงศ์ถู่ฟาน โดยมีชื่อว่า “พระราชวังแดง” ต่อมาราชวงศ์ถู่ฟานล่มสลาย พระราชวังแห่งนี้จึงถูกทิ้งให้รกร้างทรุดโทรมลง จวบจนเมื่อศตวรรษที่17 องค์ทะไลลามะที่ 5 ได้ทำการซ่อมแซมพระราชวังแดงแห่งนี้เสียใหม่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ว่าราชการและที่ประทับ แล้วเปลี่ยนคำเรียกมาเป็น “พระราชวังโปตะลา” นับจากนั้น สถานที่แห่งนี้ก็ได้กลายเป็นศูนย์รวมอำนาจทางการเมืองและศาสนาของทิเบตในเวลาต่อมา




      พระราชวังโปตาลาเป็นหมู่สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่โตโอฬาร สร้างขึ้นตามลักษณะภูมิประเทศที่เป็นขุนเขา กินเนื้อที่กว่า 360,000 ตารางเมตร เป็นอาคาร 13 ชั้น สูง 117 เมตร มีลักษณะเหมือนป้อมปราการแบบทิเบต เป็นการผสมผสานศิลปะทางสถาปัตยกรรมของทิเบตและจีนโบราณ โดยได้ชื่อว่าเป็น “ไข่มุกราตรีแห่งหลังคาโลก”


สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญของพระราชวังโปตาลา    

         สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญของพระราชวังโปตาลาได้แก่ วังขาวและวังแดง รวมถึงสิ่งปลูกสร้างบริเวณเชิงเขาในละแวกใกล้เคียง “วังขาว” สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1648 เป็นสถานที่ซึ่งองค์ทะไลลามะใช้ในการดูแลบริหารบ้านเมืองและพระศาสนา เป็นอาคารสูง 7 ชั้น หันหน้าไปยังทิศใต้ ส่วน “วังแดง” ตั้งอยู่ตอนกลางพระราชวังโปตาลา สิ่งปลูกสร้างหลักสร้างเสร็จใน ค.ศ. 1964 แบ่งออกเป็น 6 ชั้น เป็นที่ประดิษฐานองค์สถูปของทะไลลามะ และเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นอกจากนี้ โดยรอบของพระราชวังโปตาลายังประกอบไปด้วย โรงเรียนสอนศาสนา กุฏิพระ และห้องหับต่าง ๆ ทางข้างตะวันออกและตะวันตก นอกจากนี้ ยังมีเขตเมืองเก่า เทศบาลท้องถิ่น โรงพิมพ์พระคัมภีร์ จำเรือน โรงม้า อุทยานของวัง และสระน้ำหลงหวาง เป็นต้น




       จากองค์ทะไลลามะที่ 5 เป็นต้นมา พระราชวังโปตาลามีสถานะเป็นพระราชวังฤดูหนาวขององค์ทะไลลามะ และเป็นที่ประกอบกิจกรรมทางการเมืองการปกครอง และศาสนากิจมาโดยตลอด ถือเป็นศูนย์กลางอำนาจทั้งในทางอาณาจักรและศาสนจักรของทิเบต พระราชวังโปตะลายิ่งใหญ่โอฬาร เป็นหมู่สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เป็นผลงานทางด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และศาสนาของชนชาติทิเบต ฮั่น และมองโกเลีย จนถึงทุกวันนี้ พระราชวังโปตาลาเป็นสัญลักษณ์แห่งชนชาติทิเบตที่ได้รับความยอมรับจากทั่วโลกด้วยรูปลักษณ์สง่างามและความศักดิ์สิทธิ์ทางด้านพุทศาสนานิกายลามะ





ข้อมูลจาก : http://thai.chinese.cn


กำแพงเมืองจีน

           กำแพงเมืองจีน (จีนตัวเต็ม: 長城; จีนตัวย่อ: 长城; พินอิน: Chángchéng ฉางเฉิง, อังกฤษ: Great Wall of China) เป็นกำแพงที่มีป้อมคั่นเป็นช่วง ๆ ของจีนสมัยโบราณ กำแพงส่วนใหญ่ที่ปรากฏในปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ฉิน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการรุกรานจากพวกฮันส์ หรือชนเผ่าซยงหนู (Xiongnu) คำว่า ซยงหนู บางทีก็สะกดว่า ซุงหนู หรือ ซวงหนู ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอารยธรรมจีนในยุคต้นๆ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (ราว 400 ปีก่อนคริสตกาล) เนื่องจากจะเข้ามารุกรานจีนตามแนวชายแดนทางเหนือ ในสมัยราชวงค์ฉิน ได้สั่งให้สร้างกำแพงหมื่นลี้ตามชายแดน เพื่อป้องกันพวก ซยงหนู เข้ามารุกราน และพวกเติร์กจากทางเหนือ หลังจากนั้นยังมีการสร้างกำแพงต่ออีกหลายครั้งด้วยกัน แต่ภายหลังก็มีเผ่าเร่ร่อนจากมองโกเลียและแมนจูเรียสามารถบุกฝ่ากำแพงเมืองจีนได้สำเร็จ



           กำแพงเมืองจีนยังคงเรียกว่า กำแพงหมื่นลี้ (จีนตัวเต็ม: 萬里長城; จีนตัวย่อ: 万里长城; พินอิน: Wànlĭ Chángchéng ว่านหลี่ฉางเฉิง) สำนักงานมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติจีน ประกาศเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555 ว่า นักโบราณคดี ได้ตรวจวัดความยาวของสิ่งก่อสร้างจากน้ำมือมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ "กำแพงเมืองจีน" อย่างเป็นทางการนานร่วม 5 ปี ตั้งแต่ 2008-2012 และพบว่ายาวกว่าที่บันทึกไว้เดิมกว่า 2 เท่า หรือ 21,196.18 กิโลเมตร จากเดิม 8,850 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 15 มณฑลทั่วประเทศ  และนับเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลางด้วย มีความเชื่อกันว่า หากมองเมืองจีนจากอวกาศจะสามารถเห็นกำแพงเมืองจีนได้ ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถมองเห็นจากอวกาศได้


ระยะเวลาในการสร้าง


กำแพงเมืองจีนสร้างขึ้นในระยะเวลา 4 ช่วงหลัก ๆ ดังนี้
พ.ศ. 338 (ราชวงศ์ฉิน) 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก
พ.ศ. 443 (ราชวงศ์ฮั่น)
พ.ศ. 1681 - 1741 (สมัย 5 ราชวงศ์ 10 อาณาจักร)
พ.ศ. 1911 - 2163 (รัชสมัยจักรพรรดิหงอู่ ต้นราชวงศ์หมิง)

ประวัติ


         กำแพงเมืองจีนสร้างเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกในประวัติศาสตร์จีน จุดประสงค์ก็เพื่อป้องกันการรุกรานจากชนเผ่าทางตอนเหนือ โดยมีการก่อสร้างเพิ่มเติมโดยฮ่องเต้องค์ต่อมาอีกหลายพระองค์ จนสำเร็จในที่สุด กำแพงเมืองจีนถือเป็นงานก่อสร้างที่มหัศจรรย์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเท่าที่เคยมีมา
มีข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับกำแพงเมืองจีนดังนี้
        
         1. เราไม่สามารถมองเห็นกำแพงเมืองจีนจากดวงจันทร์ ไม่มีสิ่งก่อสร้างที่สร้างโดยมนุษย์ แม้แต่อย่างเดียวที่สามารถมองเห็นจากดวงจันทร์ ในระดับ low earth orbit เราสามารถมองเห็นกำแพงเมืองจีนโดยใช้ radar การมองเห็นกำแพงเมืองจีนเป็นไปได้ยากเนื่องจาก สีของกำแพงเมืองจีนจะกลืนไปกับสีของธรรมชาติ ก็คือสีของดิน หิน
        2. กำแพงเมืองจีนไม่ใช่กำแพงยาวตลอด ความจริงแล้วกำแพงเมืองจีน ถูกสร้างขึ้นในหลายยุคหลายสมัยกินเวลานับพันปี โดยเป็นการเชื่อมต่อกำแพงแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน จนเป็นแนวทอดยาวหลายพันกิโลเมตร
        3. กำแพงเมืองจีนเป็นเสมือนสุสานของผู้ก่อสร้าง มีการบันทึกไว้ว่า นักโทษจากสงครามและทาสกว่า 1 ล้านคนถูกใช้เป็นแรงงงานเพื่อก่อสร้างกำแพงเมืองจีน ซึ่งจำนวนมากเสียชีวิตลงเนื่องจากความเหน็ดเหนื่อย และความหิวโหย ซึ่งศพผู้เสียชีวิตก็จะถูกฝังอยู่ข้างใต้กำแพงนั่นเอง นานนับศตวรรษแล้ว ที่กำแพงเมืองจีนได้ชื่อว่าเป็นสุสานที่มีความยาวที่สุดในโลก เป็นที่กล่าวขานกันว่าทุกๆ หนึ่งฟุตของกำแพงเมืองจีนก็คือหนึ่งชีวิตของผู้ก่อสร้างกำแพง

                           

        4. ความยาวของกำแพงเมืองจีน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครทราบความยาวที่แท้จริงของกำแพงเมืองจีน ในภาษาจีน จะเรียกกำแพงเมืองจีนว่า "กำแพงยาวหมื่นลี้" (หนึ่งลี้มีความยาวประมาณ 1/3 ไมล์) โดยคร่าวๆ กำแพงเมืองจีนมีความยาวประมาณ 4 พันไมล์ หรือ 6,350 กิโลเมตร ทอดผ่านทุ่งหญ้า ทะเลทราย และเทือกเขาสูง ความสูงของกำแพงคือ 7 เมตร และกว้าง 5 เมตร
        5. การก่อสร้างกำแพงเมืองจีน ช่วยป้องกันการรุกรานได้หรือไม่ การเข้าครองอำนาจของมองโกล และแมนจู ทั้งสองครั้งเกิดขึ้นจากความอ่อนแอ ของราชวงศ์ที่ปกครองประเทศจีนในขณะนั้นๆ พวกเขาใช้โอกาสในขณะที่เกิดกบฏภายใน เข้ายึดครองประเทศจีน โดยมีการต่อต้านที่น้อยมาก
        6. กำแพงเมืองจีนไม่ได้เป็นแค่กำแพง ทุกๆ 300 ถึง 500 หลา จะมีฐานบัญชาการเพื่อใช้สับเปลี่ยนเวรยามและใช้เป็นจุดสังเกตการณ์ มีหอสังเกตการณ์กว่า 1 หมื่นแห่ง



        7. กำแพงเมืองจีนเป็นเส้นทางคมนาคม ในระยะแรก ประโยชน์ของกำแพงเมืองจีนก็คือ มันช่วยให้การคมนาคมและขนส่งในเส้นทางทุรกันดาร เช่นตามเทือกเขาเป็นไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้น
        8. กำแพงเมืองจีนสร้างขึ้นโดยใช้อะไรเป็นส่วนประกอบ ก่อนที่จะมีการใช้อิฐในการก่อสร้าง กำแพงเมืองจีนถูกสร้างขึ้น โดยใช้หิน ดิน และไม้ บางครั้งมีการแพ็คดินไว้ระหว่างไม้แผ่นใหญ่ และมัดไว้ด้วยกันโดยเสื่อทอ บริเวณใกล้กรุงปักกิ่ง กำแพงเมืองจีนถูกสร้างโดยใช้หินอ่อน ในบางสถานที่กำแพงถูกสร้างโดยใช้หินแกรนิต บางแห่งก็ใช้ดินเผา ทางตะวันตกของจีน กำแพงถูกสร้างโดยใช้โคลน ทำให้ชำรุดได้ง่ายกว่า กำแพงเมืองจีนที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ถูกสร้างในราชวงศ์หมิง โดยใช้วัตถุที่ทนทานกว่าเช่นหิน
        9. สภาพของกำแพงเมืองจีนในขณะนี้ รายงานผลการสำรวจของนักอนุรักษ์เมื่อปี 2004 กล่าวว่า ขณะนี้ กำแพงเมืองจีนที่ยาว 6,350 กิโลเมตร เหลือให้เห็นเพียง 1/3 เท่านั้น และกำลังสั้นลงเรื่อยๆ ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากการขาดการดูแลและอนุรักษ์ โดยเฉพาะจากชาวไร่ชาวนาซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กำแพงเมืองจีน ไม่สนใจประกาศของรัฐบาลที่กำหนดให้กำแพงเมืองจีนเป็นสมบัติของชาติ





เหตุผลที่ได้รับคัดเลือกเป็นมรดกโลก


     กำแพงเมืองจีนได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2530 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 11 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้
    1.เป็นตัวแทนซึ่งแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาด
    2.เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวนและภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
    3.เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
    4.เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
    5.มีความคิดและความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์



ข้อมูลจาก : wikipedia




หุบเขาจิ่วจ้ายโกว

           หุบเขาจิ่วจ้ายโกว (จีนตัวย่อ: 九寨沟; จีนตัวเต็ม: 九寨溝; พินอิน: Jiǔzhàigōu; ความหมาย หุบเขาเก้าหมู่บ้าน;
ภาษาทิเบต: Sicadêgu (gZi rTSa sDe dGu)) เป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติทางตอนเหนือของมณฑลเสฉวน
สาธารณรัฐประชาชนจีน มีชื่อเสียงจากน้ำตกหลายระดับชั้นและทะเลสาบที่มีสีสันงดงาม และได้รับการประกาศให้
เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535 "ที่สุดแห่งสายน้ำ","ถึงจิ่วจ้ายโกวไม่ยลน้ำอื่น"การีนตีความงดงามของอุทยานสวรรค์จิ่วจ้ายโกว
ได้ดีในเขตการปกครองพิเศษธิเบตอาป้าและเกียงซึ่งเป็นที่ตั้งของจิ่วจ้ายโกวนั้นมีแหล่งท่องเที่ยวที่ทรงความงดงามของสายน้ำ
หลายแห่งทั้งจิ่วจ้ายโกวซึ่งเป็นที่สุดของสายน้ำกลางป่าเปลี่ยนสีทั้งหวงหลงเองก็งดงามด้วยน้ำใสสีเทอควอยซ์บนหุบเขาหิมะทำ
ให้เส้นทางจิ่วจ้ายโกวหวงหลงเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่ควรไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต



ข้อมูลทั่วไป

                
                จิ่วจ้ายโกว เปิดตัวอวดชาวโลกเมื่อปี พ.ศ. 2533และใช้เวลาเพียง 2 ปี ก็ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535 จิ่วไจ้โกวเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าทางตอนใต้ของเทือกเขาหมินซาน และเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำเจียหลิงที่เป็นสาขาหนึ่งของลำน้ำแยงซีเกียง ตั้งอยู่ริมชายขอบของที่ราบสูงทิเบตดินแดนแห่งหลังคาโลก เป็นเขตต่อเชื่อมจากที่ราบสูงทิเบตสู่มณฑลซื่อชวน สภาพทางนิเวศวิทยาของบริเวณนี้เป็นร่องรอยที่เกิดจากแรงอัดและการเคลื่อนตัวของ เปลือกโลกหนุนขึ้นมาจนอยู่ในระดับสูง ทำให้เกิดร่องหินคดเคี้ยวเป็นทางยาว มีทั้งยอดเขาหิมะสูงเสียดฟ้า และหุบเขาลึกเฉพาะเขตที่มีการเปิดให้สาธารณชนเข้าชมก็มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 2,000 - 3,100 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 7 - 8 องศาเซลเซียส ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีความสูงต่ำแตกต่างกันอย่างมากมายนี้ ได้ทำให้สภาพภูมิอากาศและพืชพรรณสัตว์ป่าก็มีความหลากหลายและซับซ้อนยิ่งขึ้น


สภาพทางภูมิศาสตร์


           จิ่วจ้ายโกวตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของเทือกเขาหมินซาน ห่างจากเมืองเฉิงตูไปทางเหนือ 330 กิโลเมตร ถือเป็นส่วนหนึ่งของเทศมณฑล Nanping ในเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบตและเชียงอาป้า ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลเสฉวน ใกล้เขตแดนของมณฑลกานซู
บริเวณหุบเขามีพื้นที่อย่างน้อย 240 ตารางกิโลเมตร ขณะที่องค์กรด้านการอนุรักษ์บางแห่งกำหนดให้มีพื้นที่ 600-700 ตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่กันชนเพิ่มเข้ามา 400 - 600 ตารางกิโลเมตร ระดับความสูงจะแตกต่างไปตามแต่ละพื้นที่ โดยมีทั้งพื้นที่มีมีความสูง 1,998 - 2,140 เมตร (ที่ปากทางเข้าหุบเขาซูเจิ้ง) ไปจนถึง 4,558 - 4,764 เมตร (บนภูเขา Ganzigonggai ที่ส่วนยอดสุดของหุบเขา Zechawa)
สภาพอากาศในหุบเขาจัดว่าหนาวเย็น ตลอดปีมีอุณหภูมิเฉลี่ย 7.2 °C เดือนมกราคม -1 °C และเดือนกรกฎาคม 17 °C ปริมาณน้ำฝนตลอดทั้งปี 661 มิลลิเมตร โดยเป็นปริมาณระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมราว 80%




ข้อมูลทางประวัติศาสตร์


          พื้นที่อันห่างไกลแห่งนี้มีชาวทิเบตและเชียงตั้งรกรากอยู่มานานหลายศตวรรษ แต่ไม่ได้มีการสำรวจอย่างเป็นทางการจนกระทั่งปี พ.ศ. 2515 มีการทำธุรกิจตัดไม้อย่างหนักจนถึงปี พ.ศ. 2522 ซึ่งรัฐบาลจีนได้สั่งห้ามกิจการดังกล่าว และประกาศพื้นที่นี้เป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2525 จนกระทั่ง พ.ศ. 2527 จึงได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม โดยการวางกฎระเบียบและสถานที่ต่างๆภายในอุทยานเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2531 และในปี พ.ศ. 2535 องค์การยูเนสโกได้ประกาศพื้นที่นี้ให้เป็นมรดกโลก และเป็น World Biosphere Reserve ใน พ.ศ. 2540
ตั้งแต่เริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม จำนวนนักท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2527 มีนักท่องเที่ยว 5,000 คน พ.ศ. 2534 มี 170,000 คน พ.ศ. 2538 มี 160,000 คน และ พ.ศ. 2540 มี 200,000 คน โดยเป็นชาวต่างชาติประมาณ 3,000 คน ปี พ.ศ. 2545 มีผู้เยี่ยมชม 1,190,000 คน และในปี พ.ศ. 2547 มีผู้เยี่ยมชมเฉลี่ยวันละ 7,000 คน



ข้อมูลจาก : wikipedia,wonderfulpackage


วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกาะเชจู

              เกาะเซจู เป็นเกาะแห่งเดียวกับที่แดจังกึมแพทย์หญิงเพียงคนเดียวของเกาหลีเคยถูกจำคุกที่นี่ภายหลังเฮนริกฮาเมลพนักงานของบริษัทอินเดียตะวันออก ชาวดัตช์ได้ถูกพายุพัดมาเกยที่เกาะนี้


           เกาะเชจูหรือเชจูโด(제주도) ในภาษาเกาหลีถือว่าเป็น เกาะแห่งองค์สาม กล่าวคือ หิน ลม และผู้หญิง เกาะหินรูปร่างลักษณะแปลก ๆ มีให้เห็นทั่วไป ทั้งริมฝั่งทะเล และบนภูเขา หินรูปหัวมังกร หรือ ยงทูอัม (용두암) นับว่าเป็นสัญลักษณ์ของเกาะเชจู

        เชจูโด หรือเกาะเชจู ซึ่งอยู่ทางใต้ของโซลเป็นหนึ่งในจังหวัดทั้ง9ประเทศเกาหลี ซึ่งเราได้เห็นบรรยากาศสวย ๆ กันบ่อย ๆ จากซีรีย์เกาหลีต่าง ๆหากคุณเดินทางโดยเครื่องบินจากโซลจะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ทั้งยังมีเที่ยวบินตรงจาก โอซากา นาโงย่า ฟูกูโอกะ เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง มายัง เชจู อีกด้วยหรือคุณจะเดินทางมาจาก พูซาน วานโด อินชน ยอซู หรือ มกโพ โดยเรือเฟอร์รี่ก็ได้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่แยกออกไปจากแผ่นดินใหญ่ และมีบรรยากาศโรแมนติคแบบประเทศในเขตร้อน โดยมีสี่ฤดูและอากาศอบอุ่นสบาย อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 15 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งปีและในฤดูร้อนอุณหภูมิโดยเฉลี่ยคือ 22-26 องศาเซลเซียส คู่บ่าวสาวที่เพิ่งแต่งงานและนักท่องเที่ยวจึงนิยมไปเที่ยวที่เกาะแห่งนี้


      เกาะเชจูและถ้ำลาวา คือหนึ่งในแหล่งมรดกโลกของประเทศเกาหลีใต้ เป็นเกาะภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ในทะเลจีนตะวันออก และห่างจากชายฝั่งทางใต้ของเกาหลี 130 กิโลเมตร ตัวเกาะมีพื้นที่ 1,846 ตร. กม. เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด มีภูเขาที่สูงที่สุด (1,950 เมตร) และเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดของเกาหลีใต้

            อดีตเกาะภูเขาไฟที่ปัจจุบันกลายมาเป็นเกาะโรแมนติก ที่เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามมากมายครบทุกรูปแบบ จุดหมายอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวและคู่ฮันนีมูน สถานที่ถ่ายทำฉากสวยงามของละครเกาหลีหลายเรื่องเช่น My Girl,Full House, Coffee Prince,Boys over Flowers, แดจังกึม



สถานที่สำคัญๆที่น่าไปเยี่ยมชม

1. MANJANGGUL CAVE ถ้ำหินลาวา - มันจางกู ทางรัฐบาลได้สงวนไว้เป็นสมบัติทางธรรมชาติของชาติเมื่อปี 1970 และเป็นแหล่งศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์กลางคืน



2. SONGSAN ILCHULBONG (ยอดเขา ซงซาน อิลชุลบง) หมายความว่า "จุดสูงสุดที่พระอาทิตย์ขึ้น" ปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเหมือนมงกุฎ จุดชมวิวที่สวยและขึ้นชื่อที่สุด ซงซาน อิลชุลบง หรือ ยอดเขาแห่งดวงอาทิตย์ขึ้น เป็นหนึ่งในภูเขาไฟ 360 ลูกที่อยู่บนเกาะ ไต่ขึ้นไปตามผาชัน ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะ ยอดภูเขาไฟอันก่อตัวจากหิน 99 ก้อนอยู่ติดริมทะเล ความงามติดอันดับหนึ่งในสิบของสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยที่สุดของเกาะเจจู จุดสูงสุดของยอดเขาอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 182 เมตร นักท่องเที่ยวจะได้พบกับทิวทัศน์ที่กว้างไกล



3. SONG-UP FOLK VILLAGE หมู่บ้านวัฒนธรรมซงอับ ตั้งอยู่ตีนเขาฮัลลา หมู่บ้านพื้นเมืองที่รัฐบาลอนุรักษ์ไว้ พบบ้าน ผู้คนที่อาศัยอยู่ อาชีพ สินค้าดัง โรงเรียน ตึกทำการรัฐบาลในสมัยก่อน



4. CHEJU FOLK VILLAGE หมู่บ้านวัฒนธรรมเชจู จะได้ทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเกาะเชจู หมู่บ้านประมง ตลาด และอื่น ๆ เป็นต้นและที่สำคัญถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับ คุณปู่ของชาวเกาะเชจู "โทฮารุบัง"





5. CHONJIYON FALLS น้ำตก ชงจียอง อยู่ไม่ไกลกัน ตั้งอยู่ในหุบเขา ท่านจะพบกับหินรูปร่างต่าง ๆ จุดถ่ายรูปและวิวที่สวยมาจนคู่ฮันนีมูนเกาหลีทุกคู่ต้องมา


6. YONGDUAM ROCK หินยองดู เป็นหินบะซอลที่มีรูปร่างคล้ายหัวมังกรตามตำนาน พบกับหญิงเชจูกำลังขมักเขม่นกับการดำน้ำเพื่อหาของทะเล




7. YEOMIJI BONTANICAL GARDEN สวนพฤษศาตร์เยอเมจิก ตั้งอยู่รีสอร์ท ชุนมุน ภายในประกอบไปด้วยสวนกลางแจ้งและสวนกรีนเฮาส์ขนาดใหญ่ ที่สูงถึง 38 เมตร มีจุดชมวิวบนหอคอยที่ตั้งอยู่ใจกลางสวน มีพืชพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะแถบเมืองร้อน เมืองหนาวรายละเอียดอื่นๆ




ข้อมูลจาก : http://board.postjung.com/515659.html






วัดโฮริว

            วัดโฮริว (ญี่ปุ่น: 法隆寺 Hōryū-ji ) เป็นวัดพุทธในเมืองอิกะรุงะ จังหวัดนะระ ประเทศญี่ปุ่น มีชื่อเต็มว่า โฮริวงะกุมงจิ (法隆学問寺) หรือ Learning Temple of the Flourishing Law มีที่มาจากการที่วัดนี้ได้เปิดให้เป็นโรงเรียนสอนศาสนาเช่นเดียวกับที่เป็นอารามสงฆ์ เป็นที่ยอมรับกันว่าวัดนี้มีอาคารไม้หลายหลังที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีอยู่ในโลก แม้ว่าจะยังมีวัดอื่นที่เก่าแก่กว่าและมีความสำคัญมากกว่า แต่วัดโฮริวก็ยังคงเป็นวัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2536 วัดโฮริวได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกในนามว่า "วัดโฮริวและสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนาใกล้เคียง" และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ยกย่องให้เป็นสมบัติประจำชาติญี่ปุ่น



ประวัติ

               แรกเริ่มวัดนี้สร้างขึ้นตามพระบัญชาของเจ้าชายโชโตะกุ เพื่อสักการะบูชาพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา หรือ ยาคุชิ เนียวไร (Yakushi Nyorai) และเพื่อเทิดพระเกียรติพระราชบิดาของเจ้าชาย สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 607 เพื่ออุทิศ จากการขุดสำรวจบริเวณวัดในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่าวังของเจ้าชายโชโตกุตั้งอยู่ในส่วนตะวันออกของบริเวณที่วัดตั้งอยู่ในทุกวันนี้ และขุดค้นพบซากวัดที่อยู่ทางใต้ของวังของเจ้าชาย และไม่ได้อยู่ในบริเวณวัดในปัจจุบัน วัดโฮริวเคยถูกฟ้าผ่าและเกิดเพลิงไหม้ในปี 670 ทำให้ตั้งแต่ปี 670-700 ต้องมีการสร้างวัดขึ้นใหม่ในลักษณะเดิม แต่ย้ายตำแหน่งขึ้นไปตามทางตะวันตกเฉียงเหนือจากตำแหน่งเดิม และได้มีการบูรณะและต่อเติมบริเวณวัดขึ้นอีกในปี พ.ศ. 1917 และ พ.ศ. 2146
สถาปัตยกรรม
               บริเวณวัดในปัจจุบันแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนไซอินหรือตะวันตก และส่วนโทอินหรือตะวันออก ส่วนตะวันตกเป็นที่ตั้งของหอคอนโด (หอทองคำ) และเจดีย์ห้าชั้น ส่วนตะวันออกมีหอยูเมะโดโนะรูปทรงแปดเหลี่ยม (หอนิมิต) ตั้งอยู่ห่างจากส่วนตะวันตกไปทางทิศตะวันออก 122 เมตร ในบริเวณวัดยังมีกุฏิสงฆ์ หอประชุม ห้องสมุด และโรงอาหาร
               ขณะที่วัดในญี่ปุ่นในยุคแรกๆจะออกแบบอาคารให้เรียงตัวกันตามต้นแบบจากจีนและเกาหลี แต่วัดโฮริวไม่ได้เรียงตามต้นแบบนั้น โดยหอคอนโดจะอยู่ข้างเจดีย์ ซึ่งที่มาจากการสร้างวัดขึ้นใหม่หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในปี 670 พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาที่ประดิษฐานอยู่ก่อนถูกเพลิงไหม้ยังคงรอดปลอดภัยมาได้ ระหว่างการสร้างวัดขึ้นใหม่ได้มีการอาราธนาพระพุทธรูปศากยมุนีมาประดิษฐานที่วัด เนื่องจากผู้สร้างวัดต้องการยกย่องเชิดชูเกียรติแด่พระพุทธรูปทั้งสองอย่างเท่าเที่ยมกัน จึงออกแบบให้หอคอนโดและเจดีย์ตั้งอยู่เคียงข้างกันเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม
               สถาปัตยกรรมขอวัดโฮริวได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรแพ็กเจแห่งคาบสมุทรเกาหลีเป็นอย่างมาก เป็นเพราะมีความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นอย่างแน่นแฟ้น มีหลักฐานบ่งชี้ว่าสถาปนิก ช่างแกะสลัก และช่างฝีมือชาวแพ็กเจได้มีส่วนช่วยในการสร้างวัดโฮริว เนื่องจากญี่ปุ่นในยุคนั้นยังขาดแคลนแรงงานมีฝีมือที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ ตามบันทึกของซัมกุ๊ก ซางิ เชื้อพระวงศ์ผู้ปกครองแพ็กเจ ได้กล่าวไว้ว่า พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาถูกสร้างขึ้นโดยช่างแกะสลักชาวแพ็กเจตามพระบัญชาของเจ้าชายโชโตกุ ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยรักษาอาการประชวรของพระราชบิดาได้ แต่พระราชบิดาของพระองค์ก็เสด็จสวรรคตไปก่อนที่วัดจะสร้างเสร็จสมบูรณ์



เจดีย์

               เจดีย์ไม้ห้าชั้นในบริเวณวัดสูง 32.45 เมตร ถือกันว่าเป็นหนึ่งในสองอาคารไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายกับจีนและเกาหลี สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 700 แท่นรองฐานและราวลูกกรงของเจดีย์มีลักษณะเช่นเดียวกับในหอคอนโดแทบทุกประการ มีบันทึกกล่าวไว้ว่าใต้พื้นของเจดีย์มีหีบสมบัติฝังอยู่ โดยหินก้อนใหญ่ที่สร้างเป็นฐานเจดีย์ถูกฝังลึกลงไปใต้ดิน 3 เมตร และมีโพรงสำหรับใส่หีบไว้ แต่เนื่องด้วยน้ำหนักของเจดีย์ ทำให้ไม่สามารถขุดค้นลงไปถึงหีบสมบัติได้


หอยุเมะโดโนะ

    
         เป็นที่เชื่อกันว่าเจ้าชายโชโตกุพำนักอยู่ในหอนี้เพื่อศึกษาพระไตรปิฎก หอที่เห็นปัจจุบันสร้างขึ้นในปี 739 และได้รับการบูรณะในศตวรรษที่ 9 หอยูเมะโดโนะนี้เป็นที่ประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งจะเปิดให้นมัสการเพียงปีละหนึ่งครั้ง







ข้อมูลจากhttp://th.wikipedia.org/wiki


วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

นครหลวงเวียงจันทน์

          นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงข้ามกับอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายของประเทศไทย เมืองหลวงรูปพระจันทร์เสี้ยวของลาวแห่งนี้ ยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศเงียบสงบ ชาวเมืองทั่วไปดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเรียบง่าย แตกต่างจากเมืองหลวงอื่นๆ ของเอเชียในหลายประเทศ ปัจจุบันการเดินทางมาท่องเที่ยวเวียงจันทน์นั้นแสนสะดวก เพียงข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จากชายแดนหนองคายข้ามลำน้ำโขงไป 1,240 เมตร และเดินทางต่ออีกประมาณ 20 กิโลเมตร ก็ถึงนครหลวงเวียงจันทน์แล้ว


พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ 




               เมื่อมาเยือนนครหลวงเวียงจันทน์ สถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกที่ไม่ควรพลาดชมคือ พระธาตุหลวง ที่เป็นทั้งสัญลักษณ์ประจำชาติและศาสนสถานที่สำคัญที่สุดของลาว มีความหมายต่อจิตใจประชาชนชาวลาวอย่างใหญ่หลวง แทนความเป็นเอกราชและอำนาจอธิปไตยของประเทศลาว ถัดจากประตูทางเข้าใหญ่มาประมาณ 100 เมตร จะเห็นพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ตั้งอยู่บนฐานสูง พระหัตถ์ทรงถือพระแสงดาบวางพาดไว้บนพระเพลา เล่ากันว่าพระแสงดาบเล่มนี้จะทำหน้าที่ปกป้องพระธาตุหลวง ซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวลาวทุกคน




ประตูชัย






             จากถนนล้านช้างมุ่งหน้ามาทางวงเวียนใหญ่ จะเห็นประตูชัยตั้งเด่นตระหง่านอยู่ตรงกึ่งกลาง เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงประชาชนชาวลาวผู้เสียสละชีวิตในสงครามก่อนหน้าการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ ประตูชัยแห่งนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “รันเวย์แนวตั้ง” เพราะการก่อสร้างประตูชัยแห่งนี้ใช้ปูนซิเมนต์ที่อเมริกาซื้อเพื่อนำมาสร้างสนามบินใหม่ในนครหลวงเวียงจันทน์ ในระหว่างสงครามอินโดจีน แต่ไม่ทันได้สร้างเพราะอเมริกาพ่ายแพ้สงครามในอินโดจีนเสียก่อน จึงนำปูนซิเมนต์มาสร้างประตูชัยแทน ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของประตูชัยได้รับอิทธิพลมาจากประตูชัยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมในสมัยนั้น แต่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของประตูชัยก็ยังคงเอกลักษณ์ในแบบของชาวลาวปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพุทธศิลปลาว ภาพเรื่องราวมหากาพย์รามายณะ แบบปูนปั้นใต้ซุ้มโค้งของประตูชัย บริเวณทางเข้าภายในมีบันได 147 ขั้น ให้เดินขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์ของเมืองเวียงจันทน์ได้รอบตัวเมือง ในปัจจุบันตอนช่วงเย็นๆ ของทุกวัน บริเวณสวนสาธารณะโดยรอบ จะเห็นชาวนครหลวงหลากหลายวัย ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่สำหรับออกกำลังกาย และพักผ่อนตามอัธยาศัย 


  วัดสีเมือง 




             เป็นวัดหนึ่งในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่ในแต่ละวันมีประชาชนชาวลาวเดินทางไปสักการบูชากันเป็นจำนวนมาก ภายในวัดเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองประจำนครเวียงจันทน์ ภายในวัดมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่มากมาย และมีอยู่องค์หนึ่งที่เก่าแก่ที่สุด น่าจะสร้างขึ้นก่อนปีพ.ศ.2371 พระพุทธรูปองค์นี้ชำรุดไปบางส่วน ชาวลาวเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ใครไปบนบานศาลกล่าวสิ่งใดเป็นต้องได้สมใจ ด้านหน้าฝั่งตรงข้ามประตูทางเข้าจึงมีร้านจำหน่ายดอกไม้ ธูป เทียน และร้านจำหน่ายผลไม้ให้บริการ ทางทิศตะวันออกของวัดสีเมืองมีสวนสาธารณะเล็กๆ มีพระบรมรูปของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ตั้งอยู่บนแท่นสูงกลางสวนสาธารณะ พระหัตถ์ทรงถือสมุดใบลานที่จารึกประมวลกฎหมายฉบับแรกของลาวเอาไว้ พระบรมรูปเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์นี้เป็นของขวัญที่ทางสหภาพโซเวียต มอบมาให้ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นแผ่นป้ายโลหะจารึกพระนามถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์รื้อทิ้งออกไป ภายหลังได้รับชัยชนะในสงครามปลดปล่อยเมื่อปี พ.ศ.2518


วัดสีสะเกด




     เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในนครหลวงเวียงจันทน์ที่ไม่ควรพลาดชม เนื่องจากในสมัยนั้นลาวตกเป็นเมืองขึ้นของไทย เจ้าอนุวงศ์จึงออกแบบวัดตามอย่างศิลปะไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กองทัพสยามไม่ทำลายวัดแห่งนี้ลงหลังจากยกทัพเข้าตีนครเวียงจันทน์ได้สำเร็จในปี พ.ศ.2317 จึงนับได้ว่าวัดสีสะเกดอาจเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในนครเวียงจันทน์ เพราะวัดอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดล้วนเป็นวัดที่ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่หลังจากนครเวียงจันทน์แตกในครั้งนั้นทั้งสิ้น ทางเข้าพระอุโบสถบริเวณประตูด้านขวามีศิลาจารึกสร้างด้วยหินทรายเนื้อละเอียด บรรยายถึงประวัติการสร้างการจัดวาง และการสมโภชเฉลิมฉลองของวัดสีสะเกดแห่งนี้ ถัดมาบริเวณผนังด้านในของระเบียงที่ล้อมรอบพระอุโบสถเอาไว้นั้น มีการทำช่องกุดเล็กๆ ลักษณะเป็นซุ้มโค้งแหลมจำนวนมากสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเงินและพระพุทธรูปดินเผามากกว่า 6,800 องค์ 


หอพระแก้ว 





             จากวัดสีสะเกดสามารถข้ามถนนมาฝั่งตรงข้ามเพื่อมาชมหอพระแก้ว แต่เดิมหอพระแก้วเคยเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ลาว สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากล้านนา ในปัจจุบันหอพระแก้วจะไม่ใช่วัดอีกต่อไปแล้ว ได้เปลี่ยนสภาพเป็นหอพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรวบรวมพระพุทธรูปและโบราณวัตถุต่างๆ มากมายแต่นักท่องเที่ยว (โดยเฉพาะชาวไทย) ก็ยังเดินทางมาสักการบูชากันเป็นจำนวนมาก








ข้อมูลจาก : http://www.scholidaytour.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539545042&Ntype=10








วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วัฒนธรรมสำคัญของเกาหลี


ฮันบก  :  ชุดแต่งกายตามประเพณีชาติ เกาหลี     

           ฮันบก ของผู้หญิงประกอบด้วย กระโปรงพันรอบตัว เรียกว่า “ชิมา” และเสื้อ “ชอกอรี” ซึ่งคล้ายเสื้อแจ็คเก็ตฮันบกของผู้ชายประกอบด้วยชอกอริเช่นกัน แต่สั้นกว่าของผู้หญิง และมีกางเกงเรียกว่า “บาจิ” ทั้งชุดของผู้หญิงและผู้ชายสวมคลุมทับด้วยเสื้อคลุมยาวเรียกว่า “ตุรุมากิ” ปัจจุบันนี้ชาว เกาหลี นิยมสวมชุดแต่งกายประจำชาติในงานเทศกาล หรือในงานพิธีต่างๆ เช่นพิธีแต่งงาน พิธีศพ




กิมจิ และ บุลโกกิ  :  อาหารเพื่อสุขภาพ

          บุลโกกิ แปลตามศัพท์หมายความว่า เนื้อย่าง เป็นอาหารที่นิยมรับประทานในหมู่ชาว เกาหลี ในขณะที่กิมจิซึ่งเป็นผักดองรสจัดชนิดหนึ่ง ใช้รับประทานกับบุลโกกิมีรสไม่จัด ทำจากเนื้อสัตว์ได้หลายชนิด ที่นิยมมากที่สุดคือเนื้อวัวและเนื้อหมู          เครื่องปรุงมีส่วนสำคัญที่ทำให้บุลโกกิและกิมจิมีรสชาติตามต้นตำรับ กิมจิ ทำจากผักได้หลายชนิด ที่นิยมได้แก่ผักกาดและหัวผักกาด วิธีการทำ นำผักมาดองในน้ำเกลือแล้วเทน้ำเกลือออกให้ผักแห้งพอหมาด แล้วคลุกด้วยเครื่องปรุง กิมจิเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง มีคอเลสตอรอลต่ำ และยังมีเส้นใยอาหาร รวมทั้งมีวิตามินมากกว่าแอปเปิล จึงมีมีผู้กล่าวว่า “กินกิมจิวันละนิดหน่อย ไม่ต้องคอยไปหาหมอ"









ฮันกึล  :  อักษร เกาหลี

          ตัวอักษร เกาหลี ถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 15 โดยพระเจ้าเซจองแห่งราชวงศ์โชซอน ประกอบด้วยพยัญชนะ 14ตัว และสระ 10 ตัว การผสมกันระหว่างสระและพยัญชนะทำให้สามารถสร้างคำได้นับพันคำ เพราะตัวอักษรฮันกึลไม่มีความสลับซับซ้อนและมีจำนวนไม่มาก ภาษาเกาหลีสามารถเรียนรู้ได้ง่าย ปัญหาการไม่รู้หนังสือจึงหมดไปจาก เกาหลี



จองเมียว เชอแยก  :  ดนตรีจองเมียวในพิธีสักการะบรรพบุรุษ

          ในวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ลูกหลานของตระกูลชอนจู ยี ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์กษัตริย์โชซอน (1392– 1910) จะประกอบพิธีสักการะบรรพบุรุษที่ศาลเจ้าจองเมียว ใน กรุงโซล
          แม้ว่าพิธีนี้จะกระทำโดยย่อแล้วก็ตามยังมีเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีดังกล่าวนี้ทั้งหมด 19 ชนิด ซึ่งประกอบด้วยระฆังหิน กระดิ่งทองเหลือง และกลองชนิดต่างๆ เครื่องดนตรีเหล่านี้ใช้บรรเลงบทเพลงประกอบพิธีกรรมดังกล่าวโดยเฉพาะ



หน้ากากและการแสดงระบำหน้ากาก

          หน้ากากภาษา เกาหลี เรียกว่า “ทัล” ซึ่งทำจากกระดาษ ไม้ ผลน้ำเต้าและขนสัตว์ หน้ากากเหล่านี้จะสะท้อนถึงโครงสร้างหน้าตาของคน เกาหลี แต่หน้ากากบาง X ยถึงเทพเจ้ากับอมนุษย์ ความจริงกับมโนภาพลักษณะของหน้ากากนั้นมีรูปร่างที่ผิดธรรมชาติไปมากเพราะว่า “ทัลชุม” เป็นการแสดงระบำหน้ากากแสดงตอนกลางคืนโดยใช้แสงสว่างจากกองไฟ
          ระบำหน้ากากเป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ได้พัฒนาโดยชาวบ้านที่มีเชื้อสายโชซอน ที่มีความรู้สึกถึงความขัดแย้งในการปกครองจากชนชั้นสูงในสังคมส่วนใหญ่แล้วผู้แสดงและผู้ชมมักมีส่วนร่วมในตอนท้ายของการแสดง



โสมเกาหลี

          โสมเป็นพืชที่นิยมปลูกกันทั่วไปในเกาหลี ซึ่งมีภูมิอากาศและสภาพดินดีเหมาะกับการปลูกโสมที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก โสมเกาหลีมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “โสมกอริโย” (GORYEO GINSENG) ซึ่งตั้งตามชื่อของราชวงศ์กอริโยโบราณ เพื่อให้ต่างจากโสมที่นำไปปลูกตามที่ต่างๆทั่วโลก และชื่อประเทศเกาหลีที่เป็นภาษาอังกฤษว่า “KOREA” ก็ได้มาจากชื่อนี้

          โสมรับประทานเป็นยาบำรุงร่างกาย หรือเป็นยาเจริญอาหาร เชื่อกันว่าโสมทำให้กล้ามเนื้อต่างๆ และร่างกายแข็งแรง ช่วยกระตุ้นหัวใจ ป้องกันโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร เป็นยาชูกำลังและช่วยระงับประสาท โสมเป็นตัวยาสำคัญสำหรับการแพทย์แผนโบราณทางตะวันออก แต่ชาวเกาหลีนิยมดื่มโสม เช่นเดียวกับการดื่มชาหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์




วัดบุลกุกซา และถ้ำซอกกุรัม

          วัดบุลกุกซาเป็นวัดใหญ่และสวยที่สุดในเกาหลี ตั้งอยู่ที่เกียงจู เมืองหลวงของอาณาจักชิลลา (57 ปีก่อนคริสต์ศักราช –ค.ศ. 935) วัดบุลกุกซา ก่อสร้างโดยกษัตริย์บิวเพิง (ครองราชย์ 514 – 540) เป็นกษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์ชิลลา ที่เลื่อมใสพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ทรงสวดมนต์ภาวนาขอให้อาณาจักรของพระองค์มีความอุดมสมบูรณ์และความสงบร่มรื่น
          โครงสร้างของวัดที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ได้มีการสร้างขึ้นใหม่ทดแทนของเก่าเมื่อ 751 มาแล้ว แต่เดิมนั้นวัดนี้มีอาคาร 86 หลัง ซึ่งมากกว่าในปัจจุบันถึง 10 เท่า บนภูเขาด้านหลังวัด มีถ้ำหินที่มนุษย์สร้างขึ้นเรียกว่าถ้ำซอกกุรัมถือว่าเป็นถ้ำที่สวยที่สุดถ้ำหนึ่งในโลก
          ถ้ำซอกกุรัม ประกอบด้วยห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าสำหรับนั่งพัก ภายในมีห้องโถงกลม มีโดมอยู่ตรงกลาง และถัดไปเป็นทางผ่านรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า องค์การ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนให้วัดบุลกุกซา และถ้ำซอกกุรัม เป็นมรดกโลกเมื่อปี 1995



ภูเขาซอรักซัน

          เกาหลีมีภูเขาที่สวยงามสองลูก ลูกหนึ่งอยู่ทางใต้ ชื่อภูเขาซอรักซัน อีกลูกหนึ่งอยู่ทางเหนือ ชื่อ ภูเขากึมกังซัน ซอรักซันเป็นเทือกเขาทางใต้สุดยาวเป็นแนวเดียวกันกับกึมกังซัน หรือภูเขาเพชร ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ
          ป่าบนภูเขาซอรักซันซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,708 เมตร เป็นป่าที่มีพันธุ์ไม้ใบหลายชนิด และต้นสนนานาชนิด พันธุ์ไม้บนยอดเขานี้มีประมาณ 939 สายพันธุ์ มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 25 สายพันธุ์ นก 90 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 11 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 9 ชนิด แมลง 360 ชนิด และสัตว์น้ำ 40 ชนิด





ศิลปินชาวเกาหลี


          ชาวเกาหลีเป็นผู้ที่มักจะแสดงออกถึงความสามารถทางด้านดนตรีและศิลปะ นักไวโอลินชื่อ ซาราห์ ชาง ได้บันทึกแผ่นเสียงการบรรเลงไวโอลินชุดแรกของเธอเมื่ออายุ 9 ขวบ นอกจากนี้ยังมีนักไวโอลินที่มีชื่อเสียงคือ ชุงคยองฮวา ซึ่งเป็นนักไวโอลินที่มีชื่อเสียงและมีความสารรถมากมาตลอด 25ปีที่ผ่านมา
          โจซูมิ เป็นนักร้องเสียงโซปราโน ซึ่งวาทยการ เฮอร์เบิร์ด วอน คาราจัน ได้ยกย่องเธอว่าเป็นนักร้อง “เสียงพระเจ้าประทาน"
          อาจจะเป็นที่น่าประหลาดใจว่า แบกนัมชุน ชาวเกาหลีที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งศิลปะวีดิทัศน์” นั้นเคยเป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงมาก่อน
          ในปี 1963 แบกนัมชุน เป็นคนแรกที่นำเสนอผลงาน “พรีแพริด” โดยใช้โทรทัศน์เป็นสื่อ หลังจากนั้นผลงานของเขามีอิทธิพลต่องานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งเชื่อมโยงวีดีโอและโทรทัศน์กับโลกของศิลปะ สื่อ เทคโนโลยี วัฒนธรรมสมัยใหม่และศิลปะประเภท อะวอง การ์ด




(หารูปแบกนัมซุนไม่ได้ เอาเอ็กโซไปแทนก่อนล่ะกัน.... 555)



มรดกทางการพิมพ์

          การพิมพ์แม่พิมพ์ไม้ของเกาหลีเริ่มเมื่อศตวรรษที่ 8 ตัวพิมพ์โลหะชิ้นแรกของโลก พัฒนาโดยชาวเกาหลีก่อนกูเดนเบิร์ก ของเยอรมนีกว่า 200 ปี
          ชาวเกาหลีสมัยราชวงศ์กอริโย (918 – 1392) ได้สร้างพระไตรปิฏกฉบับเกาหลีขึ้นในศตวรรษที่ 13 ซึ่งถือว่าเป็นพระคัมภีร์แม่พิมพ์ไม้เก่าแก่ที่สุดในโลก และองค์การ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี1995


เครื่องดนตรีตามประเพณีเกาหลี


          เครื่องดนตรีตามประเพณีเกาหลีมีประมาณ 60 ชนิด ที่ได้มีการสืบทอดกันจนถึงปัจจุบันเครื่องดนตรีเหล่านั้น มีทั้งพิณ 12 สาย เรียกว่า “กายากึม” และพิณ 6 สาย เรียกว่า “กิวมันโก” พิณทั้งสองชนิดนี้เชื่อว่าน่าจะมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6
          เครื่องดนตรีเกาหลีแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เครื่องสาย เครื่องเป่า และเครื่องตี คิมดุกซู ซามัลนอริ วงดนตรีประกอบด้วย เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีสี่ชิ้นที่มีชื่อเสียงมากทั้งในเกาหลีและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างบทเพลงเก่าและบทประพันธ์ใหม่ๆ ทำให้เกิดเป็นผลงานทางดนตรีในมิติใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว


ดันชอง  :  รูปแบบการตกแต่งอาคาร


          ดันชอง หมายถึง การตกแต่งอาคารและสิ่งของอื่นๆ ด้วยสีต่างๆ ตามสไตล์เกาหลีแสดงถึงความสวยงามและความมีสง่า ภูมิฐาน
          ดันชองใช้สี 5 สี คือ สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง สีดำ และสีขาว นอกจากนี้ดันชองจะประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้มีความสวยงามแล้วและยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกคือ เป็นการรักษาพื้นผนังของอาคารและปกปิดวัสดุที่นำมาก่อสร้างบางอย่างที่ดูไม่งามตาไม่สวยงาม ในขณะเดียวกันก็ทำให้อาคารดังกล่าวโดดเด่นมีความสง่างามยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่แล้วดันชองใช้กับอาคารสถาปัตยกรรม รวมทั้งวัดวาอารามทั้งในกรุงโซลและภูมิภาคต่างๆ ของเกาหลี

รูปแบบลวดลาย
          รูปแบบลวดลายต่างๆ นั้นมีที่มาจากรูปภาพแสดงความหมายต่างๆในสมัยก่อน โดยที่รูปแบบลวดลายเหล่านั้นเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความต้องการที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ อารมณ์ ความรู้สึกต่อสิ่งที่อยุ่รอบตัวแล้วพัฒนามาเป็นรูปแบบของศิลปะการตกแต่ง
          ในบรรดารูปแบบลวดลายต่างๆ ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของเกาหลี คือมังกร และนกฟินิกซ์ และ “แทกึก”สัญลักษณ์นี้ใช้ในธงชาติเกาหลีหมายถึงสิ่งที่แตกต่างหรือตรงข้ามกัน 2 อย่างระหว่า อึม กับ หยาง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสงบเยือกเย็นกับการเคลื่อนไหว ความอ่อนแอดกับความแข็งแรง ความมืดกับความสว่างและเพศชายกับเพศหญิง รูปแบบเหล่านี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของความมีชีวิตยืนยาว 10 อย่าง คือ หิน ภูเขา น้ำ เมฆ ต้นสน เต่า กวาง นกกะเรียน เห็นราที่ไม่มีวันตาย และพระอาทิตย์


ชาซุ  :  การเย็บปักถักร้อย


            การเย็บปักถักร้อย ผ้าและวัสดุตกแต่งประดับประดาต่างๆ เช่น ม่าน นั้นนิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังใช้สำหรับตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านเรือ เช่น ปลอกหมอน ซองแว่นตา กล่องบุหรี่ ที่ใส่ช้อน ตะเกียบ และแปรง
สามัญชนไม่อนุญาตให้ใช้เสื้อผ้าที่มีการถักทอเป็นลวดลาย ประเภทนี้นอกจากใช้ในพิธีแต่งงาน แต่สำหรับชาซุที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั้น ใช้ผ้าที่มีการเย็บปักถักร้อย เป็นลวดลายที่แตกต่างจากการใช้เพื่อประดับประดา ผ้าดังกล่าวใช้ตกแต่งวัด พระพุทธรูปด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา

งานฝีมือทำจากกระดาษ
          ชาวเกาหลีมีประเพณีที่เก่าแก่อย่างหนึ่งคือ การประดิษฐ์เครื่องใช้จากกระดาษ ซึ่งชาวเกาหลีนิยมใช้กระดาษที่ผลิตได้ในท้องถิ่นหรือผลิตได้ในพื้นบ้าน มาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ทำเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ถ้วยชามหลายขนาดที่มีฝาปิด ตะกร้า ถุงตาข่าย เหยือกน้ำ และถาดใส่ของ
          นอกจากนี้ยังมีสิ่งประดิษฐ์จากกระดาษอีกมากมายเช่น กล่องเครื่องเขียน เสื่อ เบาะนั่ง ม่าน แล่ง กระบวย กระติกใส่แป้ง รองเท้า อ่าว และหม้อปัสสาวะ สิ่งประดิษฐ์ส่วนใหญ่จะถูกเคลือบด้วยวัสดุเคลือบผิว เพื่อทำให้ดูดี ทนทานและกันน้ำได้ ส่วนผสมของวัสดุเคลือบผิว ได้แก่ ส่วนผสมของน้ำมะพลับดิบ แป้งเปียกและน้ำมันเพอริลลา


บอจากิ  :  ผ้าห่อของ


          บอจากิเป็นผ้าเย็บขอบสี่เหลี่ยมมีขนาดและสีต่างๆ ซึ่งชาวเกาหลีใช้สำหรับห่อของเก็บของหรือห่อของเพื่อการพกพา
          บอจากิยังมีใช้อยู่บ้างแม้ว่าบอจากิจะใช้ในชีวิตประจำวันและแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของเกาหลี
          บอจากิแสดงถึงภูมิปัญญาของชาวเกาหลีที่ประดิษฐ์โดยแม่บ้าน จากสิ่งของเหลือใช้และเศษผ้าต่างๆ รูปแบบและลวดลายการเย็บปักถักร้อย ทำให้บอจากิ ดูมีเสน่ห์ สวยงาม สามารถพับเก็บได้ขนาดเท่ากับผ้าเช็ดหน้าเท่านั้น




ภาพวาดพื้นบ้าน
          ภาพวาดพื้นบ้านนั้นเมื่อก่อนเป็นที่นิยมใช้อย่างกว้างขวางกันในหมู่ชาวเกาหลีโดยใช้ตกแต่งบ้านเรือนและเชื่อว่าภาพพิมพ์นี้จะทำให้ชีวิตมีความสุขตลอดไป
          ในขณะที่ชาวเกาหลีชั้นสูงนิยมใช้ภาพพิมพ์ที่เป็นรูปทิวทัศน์ ดอกไม้และนก ภาพวาดนี้มักจะแทรกอารมณ์ขันและความเรียบง่ายของวิถีชีวิตในโลกนี้
          แม้ว่าภาพวาดพื้นบ้านเหล่านี้จะเป็นผลงานของศิลปินพื้นบ้านแต่ผลงานเหล่านี้กลับเป็นที่นิยมของทุกชนชั้นในสังคม ตั้งแต่ระดับเชื้อพระวงศ์ วัดวาอาราม จนถึงชาวบ้านในชนบท ภาพวาดเหล่านั้นมีเอกลักษณ์ องค์ประกอบที่เด่นชัด รวมทั้งลักษณะการใช้แปลงและพู่กัน และการให้สีที่ฉูดฉาด





เซริ  : ประเพณีตามฤดูกาล

          ประเพณีเซริ ซึ่งเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา ตรงกับวันที่เป็นการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลโดยยึดถือตามปฏิทินทางจันทรคติ เช่น ในวันขึ้นปีใหม่ ชาวเกาหลีจะทำการสักการะบรรพบุรุษ โดยการเซ่นไหว้ด้วยอาหาร เครื่องดื่มและเครื่องเซ่นต่างๆ หลังจากนั้นมีเซเบ หรือการโค้งคาราวะต่อผู้ที่อาวุโสในครอบครัว สำหรับในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย หรือที่เรียกว่าแดบอรึมนั้น จะมีการทำหุ่นฟางข้าว แล้วโยนลงในแม่น้ำ ซึ่งพิธีนี้ได้สูญหายไปจากหลายพื้นที่ในประเทศแล้ว แต่ประเพณีการกินเจ ยังกระทำอยู่โดยทั่วไป ในวันขึ้น 15 คำ เดือน 8 เป็นวันซูซอก เป็นวันแสดงความขอบคุณโดยลูกหลานจะไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน อาหารพิเศษสำหรับวันนี้มีซองเพียนซึ่งเป็นขนมรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ที่ใส่ งา ถั่ว ลูกเกาลัดหรือผักสดอื่น ๆ



พีธีเปลี่ยนวัย

สวน

          ในเกาหลีนั้น เมื่อชาวเกาหลีเกิดมาจะมีประเพณีต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย เรียกว่า กวานฮนอซังเจ ซึ่งรวมถึงประเพณีบรรลุนิติภาวะ ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีงานศพ และประเพณีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ประเพณีบรรลุนิติภาวะ เป็นพิธีเรียบง่าย เด็กชายจะไว้ผมยาวและผูกจุก ได้รับกัดหรือหมวก ที่ทำด้วยหางม้า ส่วนเด็กหญิงจะถักผมเปียและทำมวยผม แล้วปักด้วยปิ่นปักผมโลหะ เรียกว่า บินยิว ส่วนประเพณีแต่งงานจัดขึ้นที่บ้านเจ้าสาว และเมื่อแต่งงานแล้วทั้งคู่จะอยู่ที่บ้านเจ้าสาวไปอีก 2-3 วัน แล้วจึงไปอยู่บ้านเจ้าบ่าว
          ประเพณีงานศพ ของชาวเกาหลีเป็นพิธีที่มีขึ้นตอนมากมาย การไว้ทุกข์มักจะกระทำเป็นเวลา 2 ปี และมีระเบียบพิธีสวดมนต์ กราบไหว้ สักการะเป็นระยะตลอด 2 ปี ชาวเกาหลีได้สืบทอดประเพณีการเซ่นไว้บรรพบุรุษแสดงถึงความผูกพันระหว่างผู้ตายและลูกหลาน

          แนวคิดหลักในการจัดสวน คือ การจัดสวนให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด หรืออาจพูดได้ว่า เป็นธรรมชาติมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเห็นได้ว่าผลงานที่ออกมาแสดงถึงภูมิปัญญาของชาวเกาหลี
          แหล่งสวนโบราณที่ดีที่สุดมีการอนุรักษ์ไว้ คือ สระอันนับจิที่เกียงจู จังหวัดเกียงซังบุกโด นอกจากนี้ยังมีสวนที่สวยงามหาที่เปรียบมิได้คือ สวนในพระราชวังชังดอกกุง ในกรุงโซล มีเนื้อที่สวน 300,000 ตารางเมตร จากพื้นที่ทั้งหมด 405,636 ตารางเมตร ของบริเวณพระราชวัง สวนนี้สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถัน ประกอบด้วย ทางเดินและห้องโถงที่สวยงาม มีสระบัว ก้อนหิน สะพานหิน ทางเดิน ลำธารและน้ำพุ กระจัดกระจายอยู่ในป่า ซึ่งการจัดสวนแบบนี้เป็นการจัดสวนลักษณะประจำชาติของเกาหลี

ข้อมูลจาก www.korea-center.com